เมื่อไม่นานมานี้ สหรัฐฯ มีแนวโน้ม จะแบน Deepseek แม้ว่า จะยังเป็นแค่ร่างกฎหมาย ที่เสนอโดย วุฒิสมาชิก Josh Hawley แต่เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของสหรัฐฯ ในการจำกัดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากคู่แข่งรายสำคัญ

ภาพประกอบ สหรัฐฯ กำลังจะแบน Deepseek

เหตุการณ์ Deepseek ก่อนสหรัฐฯ จะแบน

ปรากฎการณ์โมเดล Deepseek AI ใหม่ของจีน ที่สร้างความสั่นสะเทือนให้กับคนทั่วโลก ด้วยการเปิดตัวโมเดล R1 งบต้นทุนที่ต่ำ และประสิทธิภาพโมเดลที่ดีกว่า O1 ของ Openai ก็ทำให้บริษัท AI ทั่วโลก ตื่นตัว และจับตามอง 

อีกทั้งยังมีเทคนิคในการเรียนรู้โมเดลต่างจากคู่แข่งและความสามารถเฉพาะตัว เช่น การคิดวิเคราะห์เชิงเหตุผล, คณิตศาสตร์และเขียนโค้ดด้วย และโมเดลนี้เป็นแบบ Open-Source 

มีผลทำให้ทุกคนสนใจอยากเข้าไปใช้งานผ่าน API, เล่นผ่านอินเทอร์เน็ตหรือดาวน์โหลดผ่าน IOS, Android จนกลายเป็นแอปติดอันดับ 1 บน App Store ยอดดาวน์โหลดมหาศาล

ทำไมสหรัฐฯ ถึงกลัว DeepSeek?

ผ่านไปไม่กี่วัน เกิดเหตุการณ์ข้อมูลรั่วไหล ทำให้บางประเทศกังวล เรื่อง ความเสี่ยงด้านความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูล ต่างประเทศจึงแบน Deepseek

รัฐบาลจะปกป้องผลประโยชน์ของชาติ โดยเฉพาะยุคที่ AI กลายเป็นเครื่องมือสำคัญทางเศรษฐกิจและความมั่นคง การควบคุมการเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ อาจช่วยลดความเสี่ยงที่จีนจะใช้ AI เพื่อเสริมศักยภาพด้านการทหารหรือแข่งขันในเวทีโลกได้มากขึ้น

นอกจากนี้ สหรัฐฯ ก็ยังกังวลเรื่องการใช้งาน AI ในเชิงจริยธรรม เช่น การประมวลผลข้อมูลที่ไม่โปร่งใสหรือนำไปใช้ในลักษณะที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นประเด็นที่รัฐบาลอเมริกันให้ความสำคัญมาก

การร่างกฎหมายของ Josh Hawley เพื่อแบน DeepSeek

ชาวอเมริกันและบริษัท AI ของสหรัฐฯ ทราบถึงเรื่องนี้ Josh Hawley วุฒิสมาชิก สหรัฐฯ จึงร่างกฎหมายขึ้นมา มีชื่อว่า Decoupling America’s Artificial Intelligence Capabilities from China Act of 2025 เพื่อความปลอดภัย, จำกัดการแลกเปลี่ยน เทคโนฯ AI จากบริษัทหรือหน่วยงานจากจีน 

ซึ่งคนที่ร่วมมือกับจีนหรือทำงานบริษัท AI ของจีน ด้านการวิจัย AI ในจีน ทั้งการส่งออกและนำเข้าโครงสร้างพื้นฐาน AI มีโทษอาญาจำคุก 20 ปี และปรับสูงสุด 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ 

แต่ถ้าเป็นบริษัทปรับเป็น 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การปรับเงินที่เยอะมาก ถือเป็นการส่งสัญญาณว่า “สหรัฐฯ เอาจริง” 

ผลกระทบจากการแบน Deepseek ของสหรัฐฯ

การแบน DeepSeek ในสหรัฐฯ มีผลต่อหลายฝ่าย:

  • ภาครัฐ:

หน่วยงานสำคัญ ๆ เช่น

  1. กองทัพเรือสหรัฐฯ: ออกมาตรการห้ามใช้ DeepSeek ทั้งในงานที่เกี่ยวข้องกับราชการและการใช้ส่วนตัว เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านความปลอดภัยที่ข้อมูลอาจถูกนำไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม
  2. NASA: พวกเขาแบนการใช้งานแอปของ DeepSeek บนอุปกรณ์และเครือข่ายที่หน่วยงานจัดการ โดยเน้นย้ำว่าเซิร์ฟเวอร์ของ DeepSeek ทำงานนอกสหรัฐฯ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อความมั่นคงแห่งชาติ
  3. เพนตากอน: กระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ ไม่ยอมปล่อยให้เทคโนโลยีนี้เข้ามาในระบบของพวกเขาโดยง่าย แม้ว่าจะมีพนักงานบางคนแอบใช้ Deepseek บน Ask Sage สำหรับการใช้งาน AI แบบจำกัด แต่พวกเขาก็ยังไม่ไว้ใจเซิร์ฟเวอร์ของ DeepSeek โดยตรง
  4. สภาคองเกรส: การแจ้งเตือนส.ส. และเจ้าหน้าที่ไม่ให้ใช้แอป DeepSeek บนอุปกรณ์ สำนักงานใหญ่ของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ระบุว่า อาจถูกใช้โดยแฮกเกอร์หรือผู้ไม่หวังดีในการสู่มัลแวร์เข้าสู่ระบบ
  • ภาคเอกชน:

แม้จะไม่มีคำสั่งแบนอย่างเป็นทางการในระดับประเทศ แต่บริษัทใหญ่ ๆ ในสหรัฐฯ จำนวนมากเริ่มตระหนักถึงความเสี่ยงและเลือกที่จะไม่ใช้เทคโนโลยีของ DeepSeek เช่นกัน เพราะไม่อยากเสี่ยงต่อการถูกตรวจสอบหรือเกิดปัญหาด้านความปลอดภัย

ผลกระทบในระยะยาว

  1. Deepseek: หาก DeepSeek ยังไม่สามารถปรับตัวหรือหาทางแก้ไขปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือได้ โอกาสที่จะขยายตลาดในสหรัฐฯ หรือต่างประเทศ จะยากขึ้นเรื่อย ๆ
  2. สหรัฐฯ: อาจต้องหาวิธีพัฒนาเทคโนโลยี AI ของตัวเองให้แข็งแกร่งพอที่จะไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างชาติ

ข้อสรุป:

การแบน DeepSeek ในสหรัฐฯ สะท้อนถึงความระมัดระวังในการจัดการกับเทคโนโลยีจากต่างชาติ เพื่อรักษาความได้เปรียบของตัวเอง แม้ว่าการแบนนี้จะช่วยลดความเสี่ยงในระยะสั้นได้ ทำให้หลายฝ่ายมองว่าสหรัฐฯ กำลัง “กลัว” ศักยภาพของจีนมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังต้องติดตามดูว่าการแบน DeepSeek จะส่งผลต่อความสัมพันธ์ทั้ง 2 ประเทศไหม

Source:

404media, theregister, techcrunch